วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ประมวลภาพคนจัดสวน

คนจัดสวนกำลังเลือกพรรณไม้ 












สรุป

             การจัดสวนสำหรับมือใหม่ที่ต้องการมีสวนไว้ผ่อนคลาย  ควรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของสมาชิกในบ้านทุกคน เพราะต่างคนต่างก็มีสิ่งที่ชอบแตกต่างกันไป  ควรรวบรวมความต้องการและทำให้ความต้องการของสมาชิกทุกคนในบ้านสมดุลกัน  สำรวจพื้นที่  สไตล์สวนที่ชื่นชอบ  พรรณไม้ที่เหมาะและไม่เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่  ตลอดจนงบประมาณในการจัดสวน   และจัดพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้สอย  ให้สอดคล้องกับชีวิตคนเมืองและในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ชีวิตที่เร่งรีบนั้นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติได้


การดูแลรักษา


  1. ตัดแต่งพรรณไม้ที่มีใบและกิ่งแห้งทิ้ง  เมื่อเห็นสวนเริ่มโทรมมีใบแห้งเยอะ  วันหยุดวันว่างลองถือกรรไกรตัดแต่งกิ่งเดินเข้าไปในสวนดูบ้าง  เลือกตัดเฉพาะกิ่งและใบที่แห้งออกทิ้ง  จะทำให้สวนดูสดชื่นขึ้นทันตาเห็น  ส่วนต้นไม้ใหญ่ควรตัดแต่งเพื่อเปิดช่องแสงอย่างน้อยปีละครั้งไม่ให้สวนทึบเกินไปจนเป็นบ่อเกิดของโรคและแมลง
  2. การให้น้ำและปุ๋ย  หากเป็นสวนในพื้นที่ภายนอก  ควรรดน้ำอย่างน้อยวันละครั้งอย่างสม่ำเสมอ  ในช่วงฤดูร้อนอาจเพิ่มรดน้ำเช้าและเย็น  ส่วนสวนระเบียง  ขึ้นกับว่าอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดมากหรือน้อย  หากได้รับแสงแดดแค่ครึ่งวัน  ควรรดวันเว้นวันหรือสองวันครั้ง  ทั้งนี้ให้สังเกตความชื้นในดินและสภาพของต้นไม้ว่าเกิดความผิดปกติหรือไม่  ส่วนสวนภายในอาคารรดเพียงสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอ  ส่วนการให้ปุ๋ย  หากดินเริ่มเกาะตัว  ลองให้ปุ๋ยคอกผสมลงในดินปลูกให้เดือนละครั้ง  (ปุ๋ยอินทรีย์สามารถให้บ่อยได้เท่าที่ต้องการ)  ส่วนปุ๋ยเคมีหยอดปุ๋ยสูตรเสมอหรือปุ๋ยออสโมโค้ทสามเดือนต่อครั้ง  ส่วนปุ๋ยทางใบฉีดพ่นสองสัปดาห์ต่อครั้งก็เพียงพอ
  3. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง  การตัดแต่งและเช็คล้างทำความสะอาดใบพืชก็เป็นการช่วยป้องกันกำจัดไข่แมลงที่จับเกาะบนใบออกได้ส่วนหนึ่ง  หากพบว่าต้นไม้เกิดอาการผิดปกติ  ให้รีบหาสาเหตุโดยด่วน  กรณีไม่พบร่องรอยการกัดทำลายของแมลง  ให้สังเกตอาการต่อไปว่าเกิดจากโรค  การขาดธาตุอาหาร  หรือสาเหตุอื่นๆ  เช่น  ให้น้ำมากไปจนน้ำท่วมราก  ได้รับแสงแดดจัดจนใบไหม้  หรือขาดน้ำจนใบร่วง  ฯลฯ  หากไม่พบสาเหตุอื่นๆ ก็ให้สันนิษฐานว่าเกิดเชื้อเข้าทำลาย  ให้ลิดใบที่เป็นโรคออกไปกำจัดภายนอกเพื่อป้องกันการติดต่อไปยังส่วนอื่นๆ  และต้นอื่นๆ  หากลุกลามแล้ว  ให้ฉีดพ่นด้วยสารตามอาการ  แต่หากพบสาเหตุว่าเกิดจากแมลงหรือพบตัวแมลง  ให้ใช้วิธีจับออกไปทิ้งก่อน  หากพบว่ามีจำนวนมาก  ลองใช้สารกำจัดแมลงแบบชีวภาพฉีดพ่นก่อนเพื่อความปลอดภัย  โดยฉีดพ่นในปริมาณที่มากสักหน่อย  หากยังไม่ได้ผลค่อยใช้สารเคมี
  4. การดูแลไม้คลุมดินหรือหญ้า  สวนในพื้นที่ขนาดเล็กส่วนใหญ่มักไม่ค่อยปลูกหญ้า  ช่วยลดภาระและไม่ต้องเสียเวลาตัดทุกสองสัปดาห์  แต่สำหรับบางพื้นที่ที่กว้างพอและเจ้าของต้องการปลูกหญ้า  อาจออกแบบให้มีขอบเขตสำหรับการปลูกที่ชัดเจนและปลูกพื้นที่ไม่มากนัก  เมื่อถึงระยะตัดอาจใช้กรรไกรตัดก็ได้  หากพื้นหญ้าเป็นหลุม  ดูไม่เรียบ  ควรใช้ทรายผสมปุ๋ยคอกโรยกลบให้พื้นเสมอกัน  สำหรับสวนที่ไม่ได้ปลูกหญ้า  ในบริเวณพื้นที่ร่มรำไรอาจเลือกปลูกไม้คลุมดินแทนเพื่อให้ดูแลได้ง่ายยิ่งขึ้น  เพียงถอนทำลายวัชพืชที่ขึ้นระหว่างแปลงออกบ้างเท่านั้น  หากมีต้นใดตายหรือถูกเหยียบจนช้ำอาจขุดออกแล้วปลูกต้นใหม่แทน  ส่วนบางบริเวณที่ไม่ได้ปลูกทั้งหญ้าและไม้คลุมดิน  แต่โรยกรวดแทนนั้น  ยิ่งไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ  หากเป็นกรวดเม็ดเล็กที่กระจายหายออกไปบ้าง  นานวันเข้าอาจหาซื้อมาโรยเพ่ิม  แต่หากเป็นกรวดสีขาวที่ระยะยาวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำหรือเขียวของตะไคร่  ควรเก็บล้างทำความสะอาด  อาจแช่ด้วยสารฟอกขาว  อย่างคลอรอกซ์หรือไฮเตอร์บ้าง  จะทำให้สีกรวดกลับมาขาวสดใสเหมือนเดิม
  5. การปรับปรุงสวน  ในสวนของเราประกอบไปด้วยส่วนของซอฟต์สเคป  คือต้นไม้  ซึ่งมีการเติบโต  เปลี่ยนรูปไปตามกาลเวลา  ต้องอาศัยการดูแลที่สม่ำเสมอ  และงานฮาร์ดสเคปอย่างบ่อ  พื้นระเบียง  รั้วชายคา  ควรมีการดูแลรักษาเป็นระยะ  หากเป็นพื้นไม้ควรทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ทุกปี  ส่วนบ่อเมื่อน้ำเริ่มขุ่นเขียวควรล้างทำความสะอาดบ่อและบ่อกรองเป็นระยะ  สำหรับรั้ว  หากเป็นเหล็กควรทาสีใหม่เพื่อกันสนิมเป็นระยะ  และควรฉีดน้ำพ่นทำความสะอาดชายคาบ้างเพื่อกำจัดใบไม้ที่ร่วงลงมาทับถมนานๆ จนเป็นสาเหตุของเชื้อรา

งานพรรณไม้

          ในสวนโมเดิร์นส่วนใหญ่มีพรรณไม้น้อยชนิด  อีกทั้งแนวคิดหลักของสวนโมเดิร์นยังเน้นการดูแลรักษาง่าย  ไม่ยุ่งยาก  ดังนั้นพรรณไม้ที่ใช้จึงเป็นชนิดที่มีความทนทานพอสมควร  แต่ทั้งนี้พืชพรรณก็ยังคงต้องการอาหารและการบำรุงให้เจริญงอกงามเช่นเดียวกับต้นไม้ชนิดอื่น  ส่วนการจัดสวนระเบียงหรือสวนดาดฟ้า  ควรคำนึงถึงทิศทางและแสงแดดเป็นหลัก ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกนั้นมีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่พรรณไม้และแต่ละประเภทมีการดูแลแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะจัดสวนลักษณะไหน  ดังนี้

  • ไม้ยืนต้น  ไม้พุ่ม  และไม้คลุมดิน  ควรรดน้ำอย่างน้อยวันละ  1-2  ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น  เพื่อให้ต้นไม้ได้รับความชื้นอย่างเพียงพอ  สำหรับเจ้าของสวนที่มีเวลาน้อยควรติดระบบรดน้ำอัตโนมัติ  เช่น  สปริงเกลอร์น้ำหยด หรือพ่นหมอกตามแต่สะดวกและกำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่พืชต้องการ   ส่วนการบำรุงพืช  เราควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมออย่าง  16-16-16  หรือ         15-15-15  หลังจากปลูกพืชประมาณ  1  เดือน  นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยละลายช้าควรใส่ทุก  3  เดือน  สำหรับการให้ปุ๋ยมีหลากหลายวิธีทั้งการฉีดพ่น  ผสมน้ำรด  หรือหว่าน  จึงควรอ่านฉลากและข้อแนะนำก่อนใช้เพื่อให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด  ทั้งนี้พืชจะงามต้องขึ้นกับการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์อย่างเศษใบไม้แห้ง  ปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก  บ้างเป็นครั้งคราว  เพื่อไม่ให้ดินเสื่อมโทรมและอัดตัวแน่นจนเกินไป  และควรพรวนดินรอบโคนต้น  ช่วยเพิ่มอากาศลงในดิน  ทำให้ดินร่วนพรุน  ดูดซับน้ำและระบายอากาศได้ดี  เมื่อพืชเติบโตเก้งก้างควรตัดแต่งทรงต้นหรือทรงพุ่มให้โปร่ง  ซึ่งข้อดีของการตัดแต่งนั้นสามารถช่วยลดการสะสมเชื้อโรคและแมลง  ทั้งยังกระตุ้นการแตกกิ่งก้านสาขา  นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชรบกวนอย่างกาฝาก  หญ้าคา  หญ้าแห้วหมู  ไมยราบ  ด้วยการถอนทิ้งให้ถึงรากถึงโคน  หากมีโรคและแมลงรบกวนมากจนไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้จึงใช้สารเคมีกำจัดด้วยความระมัดระวังและใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น  ก่อนใช้ควรอ่านฉลากศึกษาวิธีการใช้  เลือกชนิดที่ตรงกับโรค  และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม  และควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน  เช่น  ถุงมือและผ้าปิดจมูกด้วยทุกครั้ง


  • สนามหญ้า  นับเป็นพืชยอดฮิตที่นิยมใช้ทุกยุคทุกสมัย  แต่การดูแลสนามหญ้าให้สวยสมบูรณ์นั้นยากยิ่งกว่าการดูแลพรรณไม้ชนิดอื่น  เพราะสนามหญ้าเป็นพืชที่  ติดง่ายตายยาก  เราใช้คำนี้เนื่องจากหญ้าสามารถปูให้ติดได้ง่ายและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวันในช่วงสัปดาห์แรก  หญ้าจะติดและเจริญเติบโตได้อย่างง่ายดาย  หลังจากนั้นให้น้ำเพียงวันละ  1-2  ครั้งในช่วงเช้าและเย็นก็เพียงพอ  แต่เมื่อหญ้าติดแล้วเราควรตัดหญ้าอย่างน้อยเดือนละ  2  ครั้ง  และไม่ควรปล่อยหญ้าให้ยาวเกินไปแล้วจึงตัด  เพราะจะทำให้สนามหญ้าโทรมและฟื้นตัวช้า  นอกจากนี้ในแผ่นหญ้าที่ปูสนามมักมีเมล็ดวัชพืชปะปนมาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหญ้าแห้วหมู  ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของสนามหญ้าและกำจัดยาก  ดังนั้นวิธีกำจัดขั้นพื้นฐานคือการถอนทิ้ง  แต่ถ้าพบเป็นปริมาณมากๆ  แนะนำให้ตัดสวนเนียนเหมือนสนามหญ้าไปเลย 

ขั้นตอนการจัดสวน

          ขั้นตอนการจัดสวนทั้งสามแบบนั้น  ไม่ว่าจะเป็นสวนขนาดเล็ก  สวนแนวโมเดิร์น  และสวนระเบียงและดาดฟ้า  มีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน  แตกต่างกันที่รูปร่างของฮาร์ดสเคป   จึงรวบรวมขั้นตอนการจัดสวนทั้งหมดไว้ด้วยกัน  เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น

  1. หลังจากได้แบบสวนลงตัวแล้ว  ควรเริ่มวัดสเกลของส่วนที่ต้องทำโครงสร้าง  เช่น  การต่อเติมระแนง  การต่อพื้นระเบียงไม้และปูพื้นแข็งส่วนอื่นๆ  หากในแบบมีบ่อน้ำด้วย  ควรขุดดินและเตรียมงานโครงสร้าง  และส่วนบิลท์อินต่างๆ  เช่น  ศาลา  กระบะ  ฯลฯ 
  2. เริ่มก่อสร้างสิ่งเหล่านี้  โดยขนวัสดุอิฐ  หิน  ปูน  ทราย  และไม้ที่จะต้องใช้ขึ้นไปทำก่อน  หรือบางชิ้นอาจทำสำเร็จแล้วจึงนำไปติดตั้งก็ได้  ขึ้นกับความสะดวก
  3. การปรับพื้นที่  ขั้นตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาจากการนำข้อมูลที่สำรวจข้างต้นมาปรับปรุงพื้นที่  เช่น  ดินเหนียวเกินไป  ควรใช้ทรายผสมกับเศษใบไม้แห้งและปุ๋ยคอกเพื่อช่วยให้ดินร่วนขึ้น  ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดสวนจริงต่อไป  หากขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ไม่สมบูรณ์จะส่งผลให้ขั้นตอนการทำงานอื่นๆเกิดปัญหาได้  ดังนั้นขั้นตอนการปรับพื้นที่นับเป็นหัวใจสำคัญของการจัดสวนเลยก็ว่าได้
  4. วางงานระบบ  งานวางระบบไฟสนามต้องพิจารณาถึงการใช้งานเป็นหลักว่าใช้เพื่อการส่องสว่างหรือเพื่อความสวยงาม  ส่วนจะมาก-น้อย  ถี่-ห่าง  ให้พิจารณาจากขนาดของพื้นที่และแนวทางเดิน  โดยทั่วไปทางเดินจะตั้งห่างกันไม่น้อยกว่า  2  เมตร  ส่วนการติดตั้งไฟเพื่อความสวยงามสามารถติดตั้งได้ตามต้องการ  สำหรับงานระบบสปริงเกลอร์เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาดูแลสวน  ควรพิจารณาชนิดของพืชที่ปลูกว่าต้องการน้ำมาก-น้อยเพียงใด  ทั้งนี้งานระบบควรใช้ช่างที่มีความชำนาญมาวางระบบจะดีกว่า  แต่เราควรศึกษาวิธีการใช้และการดูแลรักษาเพื่อให้ระบบไม่ขัดข้อง
  5. ปลูกต้นไม้สร้างร่มเงา  เมื่องานระบบเสร็จเรียบร้อยก็ลงมือปลูกต้นไม้ตามตำแหน่งที่ร่างไว้  เริ่มจากปลูกต้นไม้ใหญ่  แปลงไม้พุ่ม  แปลงไม้คลุมดิน  และปูหญ้าตามลำดับ  ในขั้นตอนการปลูกควรเตรียมดินสำหรับปลูกต้นไม้โดยเฉพาะเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี  สำหรับต้นไม้ใหญ่  หลังจากปลูกเสร็จควรค้ำยันให้มั่นคง  เพราะรากของต้นไม้ใหญ่จะฟื้นตัวและเจริญต่อได้ช้ากว่าไม้พุ่มและไม้คลุมดิน  ในระยะแรกอาจใช้น้ำยาเร่งรากผสมน้ำรดทุกสัปดาห์เพื่อช่วยให้รากเจริญเร็วขึ้น  ส่วนไม้พุ่มและไม้คลุมดิน  ในระยะ  1-2 สัปดาห์แรก  ควรรดน้ำเช้า-เย็น  แต่สนามหญ้าต้องรดน้ำวันละ  3-4 ครั้ง  และต้องใส่ใจเป็นพิเศษในระยะแรก  เพราะจะเจริญต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการรดน้ำในช่วงสัปดาห์แรกนี่ละ
  6. เก็บรายละเอียด   เช่น  โรยกรวด  จัดวางเฟอร์นิเจอร์  และตกแต่งให้สวยงาม



เตรียมตัวเป็นมือใหม่ และวางแผนก่อนจัดสวน

         เตรียมตัวเป็นมือใหม่

           สำหรับมือใหม่แล้ว  การมีพื้นที่เล็กๆให้ทดลองจัดทดลองปลูก  เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ห่างไกลความเป็นจริง  ข้อดีคือไม่ยากเกินไปที่จะจัดเอง  อีกทั้งยังดูแลง่ายทั่วถึงและใช้เวลาไม่นานนัก  ส่วนข้อยากสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก คือ การบริหารพื้นที่อันจำกัดโดยแบ่งสัดส่วนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดตามความต้องการของสมาชิกทุกคนในบ้าน  เราจึงควรวางแผนก่อนจัด  ทั้งในแง่ของการออกแบบและเทคนิคต่างๆ เพื่อลดข้อด้อยของพื้นที่  รวมถึงวางแผนการทำงานเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น

     วางแผนก่อนจัดสวน

  •  ลองพูดคุยถามความคิดเห็นสมาชิกในบ้านว่าต้องการพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมใดบ้าง แล้วจัดลำดับความสำคัญและเช็คว่ากิจกรรมใดสามารถรวมพื้นที่เดียวกันได้
  • สำรวจพื้นที่  ดูทิศทางลมและแสงแดด เพื่อกำหนดตำแหน่งมุมนั่งเล่นและสร้างร่มเงา 
  • ดูแนวท่อประปา  ท่อสายไฟ  บ่อเกรอะ  บ่อซึม ฯลฯ  เพื่อหลีกเลี่ยงการวางตำแหน่งพื้นที่ใช้สอยหรือตำแหน่งปลูกต้นไม้
  • วัดขนาดของพื้นที่ที่ถูกต้อง  เขียนลงในแบบ  เช็คตำแหน่งของต้นไม้เดิมที่ต้องการเก็บไว้  กำหนดลงในแบบร่าง
  • สำรวจปัญหาในพื้นที่แล้วสังเกตจากตำแหน่งต่างๆว่าส่วนใดควรโชว์ และส่วนใดควรปิดบัง 
  • สำรวจเส้นทางเข้า ออก การขนดิน  ขนต้นไม้ ว่าต้องใช้เครื่องทุ่นแรงหรือไม่  หากเป็นบ้านที่มีเพื่อนบ้านอยู่ติดๆกัน  ควรบอกเพื่อนบ้านไว้ก่อนว่าจะมีการขนย้ายและจัดสวนช่วงใด  เมื่อวัดแบบแปลนและกำหนดตำแหน่งต่างๆได้แล้ว  ก็เพิ่มเติมด้านรายละเอียดเทคนิคลงไป   ก่อนเริ่มการจัดสวนจริง